การดูแลรักษาสิว

การดูแลรักษา

เมื่อเป็นสิวแล้วก็อย่านิ่งนอนใจ เพราะถ้าขาดการดูแลรักษาที่ดี ที่ถูกต้อง สิวที่ว่าร้าย ก็จะอยู่สร้างรอยแผลบนใบหน้าให้คุณอย่างหาวิธีแก้ได้ลำบากใจสุดๆ แน่ ที่สำคัญเลย ในการดูแลรักษาผิวพรรณและปัญหาสิวก็คือ ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิวกันก่อนกับหลากข้อต่อไปนี้

  • สิวไม่ใช่โรคติดต่อและไม่ได้เกิดจากความสกปรก หรือ จากอาหารที่รับประทานเข้าไป ส่วนในผู้หญิงนั้น อาการของสิวอาจจะแย่ลงในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ทั้งนี้เนื่องมาจากผลของฮอร์โมน
  • การดูแลผิวหน้าที่ถูกต้องด้วยตัวเอง ที่สำคัญ คือ การไม่แกะหรือบีบสิว ไม่ควรขัดหรือนวดหน้าแรงๆ และบ่อยจนเกินไป และควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะสม หรือใช้ยารักษาสิวร่วมด้วย ในกรณีที่เป็นมาก
  • การรักษาสิว ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ และในช่วงแรกอาการอาจดูแย่ลงได้ เนื่องจากยาที่รักษาบางชนิดออกฤทธิ์ ทำให้รอยโรคที่มองไม่เห็นในช่วงแรก กลับเห็นได้ชัดเจนขึ้น
  • สิ่งสำคัญสุดของการมีผิวพรรณสดชื่นแจ่มใส ไร้สิวมากวนใจ ก็คือ ควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ ด้วยการหมั่นออกกำลังกายและทำตัวเองให้มีจิตใจแจ่มใสอยู่เสมอ



วิธีที่ใช้ในการรักษาสิว

มีทั้งชนิดทาผิวภายนอก รับประทาน และฉีดเข้าสู่บริเวณที่เป็นสิว การจะเลือกใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือหลายชนิดร่วมกัน ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของสิว 

ยาทาภายนอก
อาจใช้เป็นยาเดี่ยวๆ ในรายที่เป็นสิวไม่รุนแรง หรือใช้ร่วมกับยารับประทาน ในกรณีที่เป็นสิวรุนแรงที่นิยมใช้ คือ
  • Benzoyl peroxide (BP) มีความเข้มข้นตั้งแต่ 2.5%, 5%, และ 10% ในรูปแบบครีมหรือ เจล ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ Proprionibacterium acnes ช่วยลดการอักเสบของสิวได้ดี และลดปริมาณ กรดไขมันอิสระที่ผิวหนัง จากการศึกษาพบว่า การใช้ BP ร่วมกับยาปฏิชีวนะแบบทา เช่น clindamycin solution หรือ BP ร่วมกับ retinoic acid ได้ผลดีกว่าการใช้ยาตัวใดตัวหนึ่ง เดี่ยวๆ BP มี ผลข้างเคียง คือ ทำให้หน้าแดง แสบ หรือ แห้งลอกเป็นขุยได้ วิธีใช้มักจะทา และล้างออกใน 5-30 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า โดยใช้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก็เพียงพอ
  • กรดวิตามิน เอ (Retinoic acid) ยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ทำให้การสร้าง และการผลัดเซลล์ชั้นหนังกำพร้าที่ผิดปกติกลับสู่สภาพปกติ ทำให้มีการหลุดลอกของ comedone ป้องกันการเกิด comedone ใหม่ และยังลดการอักเสบด้วย จึงสามารถลดปริมาณสิวทั้งชนิดอักเสบและไม่อักเสบ ใช้ได้ดีในกรณีที่เป็นสิวชนิดไม่รุนแรง ใช้ทาวันละ 1 ครั้งก่อนนอน โดยทาทั่วใบหน้า ยกเว้นรอบตา และซอกจมูก เริ่มเห็นผล เมื่อใช้ยาไปนานประมาณ 3-4 เดือน ผลข้างเคียง คือ การระคายเคือง หน้าแดง แสบ แห้ง และลอก อาจทำให้เห็นสิวมากขึ้นช่วง 3-4 สัปดาห์แรก ที่ใช้ยาและผิวไวต่อแสงได้
  • ยาปฏิชีวนะชนิดทา ที่นิยมใช้ คือ Clindamycin solution และ Erythromycin solution ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ P.acnes ทำให้ปริมาณกรดไขมันอิสระ (Free fatty acid) บนผิวหนังลดลง และ ช่วยลดการอักเสบด้วย ใช้ได้ผลดีในสิวชนิดไม่รุนแรง สามารถลดสิวอักเสบได้ประมาณ 50-60% เมื่อทายา เช้า-เย็น นาน 8-12 สัปดาห์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา คือ ระคายเคือง แดง แห้ง ลอก คัน
  • กรดอะเซเลอิค (Azelaic acid) ออกฤทธิ์ลดการทำงานของเชื้อ P.acnes ลด Free fatty acid ช่วยทำให้การสร้างเคอราตินของท่อไขมันกลับสู่สภาพปกติ ความเข้มข้นที่ใช้ คือ 20% azelaic acid ครีม ทาวันละ 2 ครั้ง ใช้นาน 3-9 เดือนจึงเห็นผล ผลข้างเคียง คือ อาการคันเป็นผื่นแดง และลอก โดยอาการคันพบได้ในผู้ที่ใช้ยาเกือบทุกคน แต่จะคันเพียงไม่กี่นาที
  • กรดซาลิไซลิค (Salicylic acid) ออกฤทธิ์ทำให้มีการหลุดลอกของสิวอุดตัน ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ หรือลดการผลิตไขมัน
ยารับประทาน 
ถ้าสิวมีอาการอักเสบรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก หรือในผู้ป่วยบางรายที่เป็นสิวไม่รุนแรงมาก แต่มีความกังวลสูงกลัวว่าสิวที่หายแล้วจะทิ้งรอยดำ หรือรอยแผลเป็นค่อนข้างมาก ก็มักจะให้มีการรับประทานยาเพื่อรักษาสิวด้วย การรับประทานยารักษาสิว ต้องสม่ำเสมอและติดต่อกัน ถ้าอักเสบมากต้องรับประทานกันนานถึง 6-8 เดือน ยาที่ใช้บ่อยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
  • ยาปฏิชีวนะ ช่วยลดปริมาณของเชื้อ P.acnes ลดปริมาณกรดไขมันอิสระบนผิวหนัง และช่วยป้องกันการเกิดสิวใหม่ด้วย ยาปฏิชีวนะที่ใช้บ่อย คือ Tetracycline, Erythromycin, Cotrimoxazole, Trimethoprim, Amoxycillin ผลข้างเคียง ของยาปฏิชีวนะที่อาจพบ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นคัน การติดเชื้อราในช่องคลอด ตับอักเสบ เป็นต้น
  • ยาอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ (Retinoid) ที่ใช้ในการรักษาสิว คือ Isotretinoin ใช้ในการรักษาสิวชนิดรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ ออกฤทธิ์โดยทำให้ต่อมไขมันมีขนาดเล็กลง ลดการหลั่งไขมัน ช่วยให้การสร้างเคอราตินของท่อต่อมไขมัน กลับเข้าสู่สภาพปกติ ลดการอักเสบของสิว และลดจำนวน P.acnes ที่ผิวหนังด้วย ส่วนใหญ่ต้องใช้ยาติดต่อกัน 16-20 สัปดาห์ และเริ่มเห็นผลที่ 3-4 สัปดาห์ หลังรับประทานยา ไม่ควรใช้ร่วมกับยากลุ่ม Tetracycline เนื่องจากทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงได้ ผลข้างเคียง จากยาที่พบบ่อย คือ ปากแห้ง ผิวแห้ง เยื่อบุตาแห้งและอักเสบ มีการเปลี่ยนแปลงของระดับโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ (ซึ่งเป็นไขมันในเลือด) และ เอนไซน์ของตับบางตัวสูงขึ้น ผลข้างเคียงที่สำคัญมาก คือ ทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ถึง 30% ของผู้ที่ตั้งครรภ์ ดังนั้นที่สำคัญ ห้ามใช้ในหญิงที่หรือกำลังจะมีครรภ์ โดยต้องหยุดยาอย่างน้อย 2 เดือนก่อนตั้งครรภ์
  • ยาคุมกำเนิด ที่ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ต้าน Androgen (ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เด่นของเพศชาย) เช่น Cyproterone acetate ออกฤทธิ์ลดขนาดและการหลั่งไขมันของต่อมไขมัน ใช้ในผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีสิวสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน หรือ ในผู้หญิงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทั่วๆ ไป เริ่มเห็นผลเมื่อใช้ยาไปนาน 3-4 เดือน หากใช้ยาควรใช้ติดต่อกันนาน 6-12 เดือน โดยต้องใช้ควบคู่กับการทายารักษาสิว ผลข้างเคียง ของการใช้ยา คือผู้ใช้จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวเพิ่ม ประจำเดือนอาจผิดปกติ และก่อให้เกิดฝ้าได้ ไม่ควรใช้ยาในผู้ชาย เด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือ ผู้หญิงสูงอายุที่มีประวัติสูบบุหรี่จัด หรือมีประวัติเส้นเลือดขอด
ยาฮอร์โมนอีกตัว คือ Spironolactone ออกฤทธิ์ต้าน Androgen ลด Testosterone และ Dehydroepiandrosterone ซึ่งต่างก็เป็นฮอร์โมนเพศชาย จึงทำให้ขนาดของต่อมไขมัน และปริมาณของไขมันลดลงด้วย เลือกใช้ยานี้ในผู้หญิงที่ไม่สามารถใช้ยา Cyproterone acetate ไม่ควรใช้ในผู้ชายเพราะทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง และมีหน้าอกโตเหมือนผู้หญิง 

การรักษาทางวิธีกายภาพ

  • การกดสิว ใช้รักษาสิวอุดตัน ทั้งชนิดหัวดำ และหัวขาว แต่ในกรณีที่รูเปิดของสิวเล็กมาก อาจจำเป็นต้องขยายรูเปิดด้วยเข็ม หรือเลเซอร์ก่อน เพื่อช่วยให้การกดสิว ทำได้สะดวกขึ้น การกดสิวต้องทำให้ถูกหลักวิธี มิฉะนั้นจะทำให้หัวสิวที่อุดตันอยู่ ถูกดันลึกลงไปในชั้นหนังแท้จนก่อให้เกิดการอักเสบมากกว่าเดิมได้
  • การฉีดสเตียรอยด์ใต้หัวสิว วิธีนี้คนไข้ชอบเพราะได้ผลรวดเร็ว ทำให้การอักเสบลดลงได้เร็ว แต่มีข้อเสีย คือ ถ้าฉีดยาลึกเกินไป หรือปริมาณยามากเกินไป อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา เกิดรอยบุ๋มได้ และการฉีดยาเป็นแค่การลดการอักเสบ แต่สิวที่อุดตันก็ยังคงอยู่
  • การใช้ความเย็น โดยใช้ไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบชนิดถุงซีสต์ ช่วยลดการอักเสบ และความเย็นจะทำให้ผนังของซีสต์ถูกทำลายไป
  • การใช้เลเซอร์ บางชนิดช่วยลดอาการอักเสบของสิว
การดูแลรักษาสิว การดูแลรักษาสิว Reviewed by TXL Admin on 20:23 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.