การรักษารอยแผลเป็นของสิว

หลังมีการอักเสบของสิว ผิวหนังบริเวณนั้นมักจะมีสีที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วงแรกอาจเป็นรอยแดงๆ ช้ำๆ ต่อมาสีอาจจะเข้มขึ้น เห็นเป็นสีน้ำตาลจนถึงเกือบดำ โดยมากจะพบในผู้ที่มีผิวคล้ำง่ายกว่า ซึ่งสร้างปัญหาด้านความสวยงามให้ผู้ที่เป็นสิวค่อนข้างมาก โดยทั่วๆ ไป สามารถหายเองได้ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หรืออาจใช้เวลาถึง 18 เดือน ในการจางหายไปแต่หากไม่ทันใจ ก็อาจจะใช้ยาทาลดรอยดำได้

แผลเป็น (Scar)
เมื่อเป็นสิวแล้ว ที่ตามมาและน่ากลัวสำหรับใบหน้าสวยใสของวัยมันส์ทั้งหลาย ก็เห็นจะหนีไม่พ้น แผลเป็น ซึ่งมักจะเกิดจากสิวที่อักเสบ และอยู่ค่อนข้างลึกลงไปในผิว แต่ในบางครั้งก็อาจจะเกิดได้จากสิวอักเสบที่อยู่ตื้นกว่าได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย เราสามารถแบ่งรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิวได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • รอยแผลเป็นนูน (Hypertrophic scar) รอยแผลเป็นชนิดนี้ จะมีลักษณะนูนแข็ง ผิวค่อนข้างเรียบ สีค่อนข้างแดงหรือชมพู ขนาดมีได้ตั้งแต่ 1-2 มิลลิเมตร จนถึงมากกว่า 1 เซนติเมตร ได้ ตำแหน่งที่พบแผลเป็นนูนเหล่านี้ ได้บ่อย คือ บริเวณใต้กราม และ ลำตัวช่วงบน
  • รอยแผลเป็นชนิดบุ๋ม (Ice-pick and Depressed fibrotic scar)
    แผลเป็นชนิดลึกแหลม (Ice-pick scar) คือ แผลเป็นที่มีลักษณะเป็นรูเล็กๆ ขอบเขตชัดเจน, ชัน, อาจตื้นหรือลึกก็ได้ พบได้บ่อยที่บริเวณแก้ม
    แผลเป็นชนิดหลุม (Depressed fibrotic scar) มักจะมีขนาดกว้างกว่า ขอบเขตค่อนข้างชัดเจน ที่ก้นหลุมจะค่อนข้างแข็ง ดึงยืดไม่ได้
  • แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid scar) ลักษณะคล้ายแผลชนิดนูน แต่จะเป็นมากกว่าโดยจะลุกลามขยายกว้างกว่าตัวสิวอักเสบเดิม
แผลเป็นจากสิวเป็นปัญหาหนึ่งที่ค่อนข้างแก้ไขได้ยาก แต่อย่าหนักใจไปค่ะ เพราะสมัยนี้วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามาก มีวิธีรักษารอยแผลเป็นได้
การรักษาแผลเป็นหลุม

  • การฉีดสารเติมร่องผิว (Filler) เช่น คอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิค ในรายที่แผลเป็นหลุมนั้น ดึงยึดได้ และมีผังผืดน้อย แต่อาจไม่เหมาะในผู้ที่มีรอยแผลเป็นหลายแห่ง ผลข้างเคียงที่พบไม่บ่อย แต่สำคัญ คือ อาจเกิดปฏิกิริยาของร่างกาย ต่อสารที่ฉีดเข้าไป รวมทั้งอาจคลำได้เป็นก้อนบริเวณที่ฉีดยา
  • การกรอผิว (Dermabrasion) เป็นวิธีที่ต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ ถ้าทำ ตื้นเกินไป ก็จะไม่ได้ผลตามที่ต้องการ แต่หากลึกเกินไปก็อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นใหม่ หรือเม็ดสีเปลี่ยนแปลงได้ แผลเป็นหลุมที่เหมาะในการกรอผิว คือ แบบที่เป็นหลุมกว้างๆ แต่ค่อนข้างตื้น จะเหมาะกว่าหลุมสิวที่ลึกแหลม (Ice pick) ในกรณีที่แผลเป็นค่อนข้างมาก อาจต้องทำซ้ำ จนกว่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ผลข้างเคียงที่พบ คือ อาจเกิดตุ่มเม็ดขาวขนาดเล็ก (Milia) ในบริเวณที่ทำการรักษา ในผู้ที่มีผิวสีเข้ม อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิว ในบริเวณที่ทำ (Post-inflammatory pigmentary alteration) ได้
  • การตัดรอยแผลเป็นและยกขึ้น (Punch elevation) โดยใช้เครื่องมือคล้ายท่อเล็กๆ ที่มีความคมครอบลงไป บนรอยแผลหลุม ตัดขอบโดยรอบหลุมแผลแล้วดึงยกให้ได้ระดับเดียวกับผิวหนังปกติ แล้วตรึงไว้ด้วยการเย็บขอบแผล หรือกาวชนิดพิเศษ รอให้แผลหาย รอยจะสมานกับผิวข้างเคียงได้ดีขึ้น
  • เลเซอร์ เป็นวิธีการที่ค่อนข้างใหม่ และเริ่มเป็นที่นิยม มากขึ้นเรื่อยๆ แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
    ชนิดที่ทำให้เกิดแผล (Ablative laser) ใช้หลักการคล้ายกับการกรอผิว ผลข้างเคียงคล้ายกัน คือ เจ็บ จึงต้องมีการทำให้ผิวบริเวณที่จะทำการรักษาให้ชาก่อน นอกจากนั้นก็คือ อาจทำให้เกิดตุ่มเม็ดขาวขนาดเล็ก (Milia) เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวในบริเวณที่ทำ และต้องใช้เวลาพักฟื้น หลายวัน
    ชนิดที่ไม่ทำให้เกิดแผล (Non-ablative laser) หลักการคือปล่อยพลังงานไปกระตุ้น คอลลาเจนในชั้นหนังแท้ โดยไม่ทำอันตรายต่อผิวหนังชั้นบน จึงเหมือนเป็นการเติมคอลลาเจนใหม่ให้กับผิว เมื่อดูด้วยตาจะเห็นรอยหลุมสิว ตื้นขึ้น เลเซอร์ในกลุ่มนี้ ไม่ทำให้เกิดแผล ไม่เจ็บ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาชาก่อนทำการรักษา สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติหลังทำเลเซอร์แล้ว แต่วิธีนี้มักต้องทำหลายครั้ง ติดต่อกัน ทุก 2-4 สัปดาห์ เฉลี่ยประมาณ 3-6 ครั้ง จึงจะเห็นผล และปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างสูง
    ชนิดกึ่งทำให้เกิดแผลถลอก (Fractional laser) คือ มีผลในการลอกผิวด้วย แต่จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่า Ablative laser เนื่องจากตัวเลเซอร์จะทำการลอกผิว ด้วยความถี่ที่สูงกว่า Ablative laser ทั่วไป ทำให้เห็นเป็นรอยแผลน้อยกว่า รวมทั้งยังมีฤทธิ์กระตุ้นคอลลาเจนใต้ผิว คล้าย Non-ablative laser ด้วย ส่วนใหญ่ต้องทำเฉลี่ย 4-5 ครั้ง ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ การเปลี่ยนแปลงสีผิวบริเวณที่ทำหัตถการ และราคายังค่อนข้างสูง

การรักษารอยแผลเป็นของสิว การรักษารอยแผลเป็นของสิว Reviewed by TXL Admin on 20:24 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.